วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เหรียญรัชกาลที่ 5 ปราบฮ่อ เนื้อทองคำ





ถ้าพูดถึงเหรียญรัชกาลที่ 5 ก็ต้องกล่าวถึงเหรียญนี้ครับ เพราะเป็นหนึ่งในเหรียญรัชกาลที่หลายท่านชอบเป็นอย่างยิ่ง
วันนี้ผมได้นำรูปภาพด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างมาให้เห็นชัดเจนว่า ขอบวงนอกของเหรียญด้านล่างมีข้อความอักษรโรมัน บ่งบอกถึงชนิดของโลหะว่า "MONNAIE DE PARIS ARGENT" สังเกตในรูป จะเป็นตัวตอก MONNAIE DE PARIS & GOLD เหมือนกับเหรียญประพาสยุโรป


ส่วนประวัติความเป็นมาของการจัดสร้างเหรียญปราบฮ่อนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่ไปราชการสงคราม คราวปราบปรามโจรฮ่อที่ลุกล้ำพระราชอาณาเขตทางเหนือบริเวณประเทศลาวในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นประเทศราชของสยาม

พวกฮ่อนี้เป็นชาวจีนที่เดินทางบกเข้ามาค้าขายในแถบหัวเมืองเหนือ แต่ภายหลังเมื่อประเทศจีนเกิดกบฏไต้เผ็งขึ้นและรัฐบาลจีนร่วมมือกับประเทศยุโรปปราบปรามพวกกบฏเหล่านี้ได้ราบคาบ ราวต้นรัชกาลที่ ๕ พวกกบฏไต้เผ็งที่หนีรอดมานี้ได้เดินทางลงมาทางใต้ในลักษณะกองโจรติดอาวุธและเข้าปล้นสะดมเมืองต่างๆ รายทางลงมาตั้งแต่สิบสองจุไท หัวพัน ทุ่งเชียงคำ เมืองพวน ลงมาถึงเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง พวกโจรจีนเหล่านี้มีหลายก๊กหลายเหล่า เช่น ฮ่อธงแดง ฮ่อธงเหลือง ฮ่อธงดำ ร่วมกับชาวพื้นเมืองที่พวกฮ่อเหล่านี้เข้าปล้นสะดมจัดตั้งเป็นกองโจรเข้าตีบ้านเมืองต่างๆ เริ่มตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งกองทัพไปปราบปราม ๓ ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๑๘ จัดกองทัพแบบโบราณ โดยมีพระยามหาอำมาตย์เป็นทัพที่ ๑ เจ้าพระยาพิชัยเป็นทัพที่ ๒ เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธ์) เป็นทัพที่ ๓ เข้าตีพวกฮ่อจนแตกหนีไป

ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๒๖ เกิดการรุกรานของพวกโจรฮ่ออีก ซึ่งขณะนั้นมีกองทัพสยามไปราชการแถบบริเวณนั้นอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาพิชัย(มั่ง) ยกกองทัพไปช่วยเหลือเมืองหลวงพระบาง และพระยาราชวรานุกูล (เวก บุณยรัตพันธ์) ยกกองทัพไปช่วยเมืองเวียงจันทน์

ครั้งที่ ๓ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๒๘-๒๔๓๑ เป็นการจัดการทัพแบบสมัยใหม่มีอาวุธทันสมัยมากขึ้น เช่น ปืนใหญ่ลูกแตก โดยจัดทัพเป็น ๒ กอง คือ กองทัพพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (ต้นราชสกุลทองใหญ่) ยกไปทางเมืองหนองคาย กองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกไปทางเมืองหลวงพระบาง

การจัดสร้างเหรียญปราบฮ่อนี้เป็นแนวพระราชดำริของรัชกาลที่๕ ทั้งหมด โดยมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานเป็นของรางวัลแก่นายทหารที่ไปราชการทัพ ฉะนั้น การออกแบบก็คงเป็นพระราชดำริของพระองค์ท่านเช่นกัน โดยทรงระบุถึงรายละเอียดว่าให้เก็บรายชื่อนายทหารที่ไปรบคราวใดก็จะพระราชทานแจกเข็มปีนั้นให้

ส่วนปีที่เริ่มพระราชทานแจกนั้นเข้าใจว่าจะเริ่มตั้งแต่ ร.ศ.๑๑๗ เพราะเมื่อค้นในราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ ๕ จะเริ่มประกาศรายชื่อขุนนางที่ได้รับพระราชทานเหรียญปราบฮ่อใน ร.ศ.๑๑๗ เป็นปีเริ่มต้น โดยเริ่มพระราชทานแจกในวันที่ ๒๑ กันยายน ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) จำนวน ๔๙ ท่าน เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม ), เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม) , พระยาสีหราชเดโชไชย (โต) , พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (เชย) รวมตลอดทั้งปีจนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๗ เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๔ เหรียญ

ส่วน ร.ศ.๑๑๘ พระราชทานแจกเฉพาะในมณฑลพิษณุโลกจำนวน ๗๕ เหรียญ และ ร.ศ.๑๑๙ พระราชทานแจกให้แก่ขุนนางมณฑลอีสานจำนวน ๙๘ เหรียญ เช่น พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) . พระประสิทธิ์ศักดิ์ประสิทธิ์ (หำ) . พระยาไตรเพชรรัตนสงคราม (จรัญ) . พระยาปทุมเทวาธิบาล (เสือ) , หลวงพิทักษ์ เทพสถาน เมืองมุกดาหาร ฯลฯ

แม้กระทั่ง ร.ศ.๑๒๓ ก็ยังคงมีการพระราชทานแจกเหรียญปราบฮ่ออยู่ ๒ ท่าน คือ พระยานนทบุรี (ทัด) และนายร้อยโท สง่าประ เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองหลวงพระบาง และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองหนองคาย



5 ความคิดเห็น:

  1. ถามราคาตรงนี้ได้ไหมครับ เท่าไหร่ครับ

    ตอบลบ
  2. ราคาแพงมัยครับผมก็มีอยู่1เหรีญครับ

    ตอบลบ
  3. เหรียนน่ะเหมือนแต่โค๊ตไม่เหมือนยังห่างไกล

    ตอบลบ
  4. ผมมีอยู่2เหรียญครับราคาอยู่ที่เท่าไหร่ครับตอนนี้

    ตอบลบ