วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เหรียญรัชกาลที่ 5 ปราบฮ่อ เนื้อทองคำ





ถ้าพูดถึงเหรียญรัชกาลที่ 5 ก็ต้องกล่าวถึงเหรียญนี้ครับ เพราะเป็นหนึ่งในเหรียญรัชกาลที่หลายท่านชอบเป็นอย่างยิ่ง
วันนี้ผมได้นำรูปภาพด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างมาให้เห็นชัดเจนว่า ขอบวงนอกของเหรียญด้านล่างมีข้อความอักษรโรมัน บ่งบอกถึงชนิดของโลหะว่า "MONNAIE DE PARIS ARGENT" สังเกตในรูป จะเป็นตัวตอก MONNAIE DE PARIS & GOLD เหมือนกับเหรียญประพาสยุโรป


ส่วนประวัติความเป็นมาของการจัดสร้างเหรียญปราบฮ่อนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่ไปราชการสงคราม คราวปราบปรามโจรฮ่อที่ลุกล้ำพระราชอาณาเขตทางเหนือบริเวณประเทศลาวในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นประเทศราชของสยาม

พวกฮ่อนี้เป็นชาวจีนที่เดินทางบกเข้ามาค้าขายในแถบหัวเมืองเหนือ แต่ภายหลังเมื่อประเทศจีนเกิดกบฏไต้เผ็งขึ้นและรัฐบาลจีนร่วมมือกับประเทศยุโรปปราบปรามพวกกบฏเหล่านี้ได้ราบคาบ ราวต้นรัชกาลที่ ๕ พวกกบฏไต้เผ็งที่หนีรอดมานี้ได้เดินทางลงมาทางใต้ในลักษณะกองโจรติดอาวุธและเข้าปล้นสะดมเมืองต่างๆ รายทางลงมาตั้งแต่สิบสองจุไท หัวพัน ทุ่งเชียงคำ เมืองพวน ลงมาถึงเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง พวกโจรจีนเหล่านี้มีหลายก๊กหลายเหล่า เช่น ฮ่อธงแดง ฮ่อธงเหลือง ฮ่อธงดำ ร่วมกับชาวพื้นเมืองที่พวกฮ่อเหล่านี้เข้าปล้นสะดมจัดตั้งเป็นกองโจรเข้าตีบ้านเมืองต่างๆ เริ่มตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งกองทัพไปปราบปราม ๓ ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๑๘ จัดกองทัพแบบโบราณ โดยมีพระยามหาอำมาตย์เป็นทัพที่ ๑ เจ้าพระยาพิชัยเป็นทัพที่ ๒ เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธ์) เป็นทัพที่ ๓ เข้าตีพวกฮ่อจนแตกหนีไป

ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๒๖ เกิดการรุกรานของพวกโจรฮ่ออีก ซึ่งขณะนั้นมีกองทัพสยามไปราชการแถบบริเวณนั้นอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาพิชัย(มั่ง) ยกกองทัพไปช่วยเหลือเมืองหลวงพระบาง และพระยาราชวรานุกูล (เวก บุณยรัตพันธ์) ยกกองทัพไปช่วยเมืองเวียงจันทน์

ครั้งที่ ๓ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๒๘-๒๔๓๑ เป็นการจัดการทัพแบบสมัยใหม่มีอาวุธทันสมัยมากขึ้น เช่น ปืนใหญ่ลูกแตก โดยจัดทัพเป็น ๒ กอง คือ กองทัพพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (ต้นราชสกุลทองใหญ่) ยกไปทางเมืองหนองคาย กองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกไปทางเมืองหลวงพระบาง

การจัดสร้างเหรียญปราบฮ่อนี้เป็นแนวพระราชดำริของรัชกาลที่๕ ทั้งหมด โดยมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานเป็นของรางวัลแก่นายทหารที่ไปราชการทัพ ฉะนั้น การออกแบบก็คงเป็นพระราชดำริของพระองค์ท่านเช่นกัน โดยทรงระบุถึงรายละเอียดว่าให้เก็บรายชื่อนายทหารที่ไปรบคราวใดก็จะพระราชทานแจกเข็มปีนั้นให้

ส่วนปีที่เริ่มพระราชทานแจกนั้นเข้าใจว่าจะเริ่มตั้งแต่ ร.ศ.๑๑๗ เพราะเมื่อค้นในราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ ๕ จะเริ่มประกาศรายชื่อขุนนางที่ได้รับพระราชทานเหรียญปราบฮ่อใน ร.ศ.๑๑๗ เป็นปีเริ่มต้น โดยเริ่มพระราชทานแจกในวันที่ ๒๑ กันยายน ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) จำนวน ๔๙ ท่าน เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม ), เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม) , พระยาสีหราชเดโชไชย (โต) , พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (เชย) รวมตลอดทั้งปีจนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๗ เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๔ เหรียญ

ส่วน ร.ศ.๑๑๘ พระราชทานแจกเฉพาะในมณฑลพิษณุโลกจำนวน ๗๕ เหรียญ และ ร.ศ.๑๑๙ พระราชทานแจกให้แก่ขุนนางมณฑลอีสานจำนวน ๙๘ เหรียญ เช่น พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) . พระประสิทธิ์ศักดิ์ประสิทธิ์ (หำ) . พระยาไตรเพชรรัตนสงคราม (จรัญ) . พระยาปทุมเทวาธิบาล (เสือ) , หลวงพิทักษ์ เทพสถาน เมืองมุกดาหาร ฯลฯ

แม้กระทั่ง ร.ศ.๑๒๓ ก็ยังคงมีการพระราชทานแจกเหรียญปราบฮ่ออยู่ ๒ ท่าน คือ พระยานนทบุรี (ทัด) และนายร้อยโท สง่าประ เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองหลวงพระบาง และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองหนองคาย



เหรียญรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป เนื้อทองคำ




สวัสดีครับที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของผม บทความนี้เป็นบทความแรกที่ผมได้นำมาเสนอ โดยการนำเหรียญที่ระลึกของรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป เนื้อทองคำ มาให้ได้ชมกัน ซึ่งเป็นเหรียญที่เก็บโดยป๋าอู๊ดของผมที่ได้เก็บสะสมพระเครื่องไว้มากมายและเก็บมานาน ประเภทเก็บอย่างเดียว เก็บจริง ๆ ตั้งแต่อายุ 20 ปี จนปัจจุปันอายุร่วม 79 ปี ช่วงเวลาที่สะสมมาก็ร่วม 50 กว่าปี ก็เก็บสะสมเหรียญทองคำไว้หลายชนิดหลายเหรียญด้วยกัน ซึ่งจะเอาออกมาให้ชมกันต่อไปครับ และเหรียญนี้ก็เป็นอีก 1 เหรียญที่เก็บไว้ ซึ่งจริง ๆ เหรียญประพาสยุโรป มีอยู่ 2 เหรียญ แต่ขอเอามาลงเพียงเหรียญเดียวนะครับ

เหรียญรัชกาลที่ 5 เหรียญที่ระลึกประพาสยุโรป หรือเหรียญประพาสมาลา เป็นเหรียญอิสริยาภรณ์ ประเภทเหรียญที่ระลึก ทรงสร้างขึ้นเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศในแถบยุโรปเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2440 หรือ ร.ศ.116 และทรงนำสิ่งที่ทอดพระเนตรมาปรับปรุงแก้ไขขนบธรรมเนียมประเพณีให้ทัดเทียมกับชาวยุโรป โดยไม่ขัดต่อวัฒนธรรมประเพณีไทย จนเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวยุโรปและนานาประเทศ อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการ ประการสำคัญพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงทั่วยุโรป

เหรียญประพาสยุโรป จัดสร้างเป็นเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อเงินกะไหล่ทอง และเนื้อทอง แดง ลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน ขอบโดยรอบเรียบ ด้านหน้า ตรงกลางเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ฉลองพระองค์เต็มยศ เบื้องขวาของพระบรมรูปมีอักษรโรมันว่า "Aug. PATEY" และมีอักษรไทยรอบขอบด้านบนว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว"

ด้านหลังมีอักษรไทยว่า "ที่รลึก ในการเสด็จพระราชดำเนิน ประพาศยูโรป ตั้งแต่วันที่ ๗ เดือน เมษายน ถึงวันที่ ๑๖ เดือนธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖" ขอบวงนอกของเหรียญด้านล่างมีข้อความอักษรโรมัน บ่งบอกถึงชนิดของโลหะว่า "MONNAIE DE PARIS ARGENT" สังเกตในรูป จะเป็นตัวตอก MONNAIE DE PARIS & GOLD

มีหลักการพิจารณาจุดตำหนิแม่พิมพ์ คือ ด้านหน้า คำว่า "พระบาท" ที่มุมตัว "พ" ติดกับเครื่องอิสริยยศ และตัว "บ" ติดกับสระ "อา" คำว่า "ปรมินทร" สระ "อิ" ติดตัว "ม" คำว่า "จอมเกล้า" ไม้โท ติดกับตัว "ล" และสระ "อา" ภาษาอังกฤษ "Aug. PATEY" ตอกจมลงบนพื้นเหรียญ ส่วนด้านหลัง คำว่า "ที่รลึก" ตรงตัว "ร" ไม่มีสระ "อะ" คำว่า "ในการเสด็จพระราชดำเนิน" ตัว "ก" ติดกับสระ "อา" และตัว "ร" ติดกับสระ "อา" คำว่า "เมษายน" ตัว "ษ" ติดกับสระ "อา" และหางตัว "ษ" พาดผ่านสระ "อา" และคำว่า "เดือนธันวาคม" ตัว "ว" ติดกับสระ "อา"

ปัจจุปันมูลค่าของเหรียญสูงมาก และหายากมากครับ